จันทรุปราคา (Lunar eclipse)



จันทรุปราคา (เรียกได้หลายอย่าง เช่น จันทรคาธ จันทรคราส ราหูอมจันทร์ หรือ กบกินเดือน) คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ เคลื่อนที่มาอยู่ในแนวระดับเดียวกันพอดี โดยมีโลกอยู่กลาง หากเกิดขึ้นในช่วงพระจันทร์เต็มดวง เมื่อดวงจันทร์ผ่านเงาของโลก จะเรียกว่า จันทรุปราคา ซึ่งลักษณะของจันทรุปราคาขึ้นอยู่กับตำแหน่งของดวงจันทร์ ที่เคลื่อนที่ผ่านเงาของโลกในเวลานั้นๆ จันทรุปราคาสามารถดูได้จากทุกที่ในฝั่งกลางคืนของโลก กินเวลาเป็นชั่วโมง และยังสามารถดูได้โดยไม่ต้องมีสิ่งป้องกันดวงตาหรือการป้องกันเป็นพิเศษ แม้ปรากฏการณ์จันทรุปราคาจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่มีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อในหลายวัฒนธรรมมาช้านาน รวมทั้งของไทยด้วย


ลักษณะของดวงจันทร์เมื่อเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง

เมื่อเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์ไม่ได้หายไปจนมืดทั้งดวง แต่จะเห็นเป็นสีแดงอิฐ เนื่องจากมีการหักเหของแสงอาทิตย์เมื่อส่องผ่านชั้นบรรยากาศของโลก สีของดวงจันทร์เมื่อเกิดจันทรุปราคาแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน แบ่งออกได้เป็น 5 ระดับ ดังนี้
  • ระดับ 0 ดวงจันทร์มืดจนแทบมองไม่เห็น
  • ระดับ 1 ดวงจันทร์มืด เห็นเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาล แต่มองไม่เห็นรายละเอียดลักษณะพื้นผิวของดวงจันทร์
  • ระดับ 2 ดวงจันทร์มีสีแดงเข้มบริเวณด้านในของเงามืด และมีสีเหลืองสว่างบริเวณด้านนอกของเงามืด
  • ระดับ 3 ดวงจันทร์มีสีแดงอิฐ และมีสีเหลืองสว่างบริเวณขอบของเงามืด
  • ระดับ 4 ดวงจันทร์สว่างสีทองแดงหรือสีส้ม ด้านขอบของเงาสว่างมาก