นักเรียนฮอกวอตส์ปี 2
กลุ่ม : นักเรียนบ้านฮัฟเฟิลพัฟ
โพสต์ : 595
เข้าร่วม : 31-July 20
หมายเลขสมาชิก : 38,498
สายเลือด : เลือดผสม
เหรียญตรา
หีบสัมภาระ
ไม้กายสิทธิ์
ไม้: ไซคามอร์ |
ยาว: 15"
แกนกลาง: ขนหางเธสตรอล
ความยืดหยุ่น: แข็ง
สัตว์เลี้ยง
ผู้พิทักษ์
|
Greenhouse Management การจัดการเรือนกระจก
โปรเจกต์วิชาสมุนไพรศาสตร์ จัดทำโดย Erekia Seere Almaecious
โรงเรือนกระจก ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการปลูกพืช ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจบางชนิด โดยเฉพาะพืชที่มีราคาแพง และเพื่อป้องกันไม่ให้ต้นพืชถูกรบกวนจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่แปรปรวน
โครงสร้างของโรงเรือนกระจกประกอบขึ้นด้วยวัสดุหลายประเภท พร้อมทั้งมีวัสดุโปร่งแสงทำหน้าที่เป็นหลังคาปกคลุม เพื่อให้แสงแดดส่องผ่านเข้าไปภายในโครงสร้างได้ การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์นี้ จะทำให้พืชเจริญเติบโตโดยอาศัยการควบคุมสภาพอากาศภายใน เช่น อุณหภูมิ การหมุนเวียนของอากาศ และความชื้น นอกจากนี้ ยังมีการเรียกชื่อในศัพท์ภาษาอังกฤษที่เฉพาะลงไปอีกตามวัสดุที่ใช้ปกคลุม อาทิ Plastic Greenhouse หรือ Fiberglass Greenhouse เป็นต้น
จุดเด่นของโรงเรือนกระจก คือ การให้ความร้อน การระบายอากาศ และอุปกรณ์เพื่อควบคุมอุณหภูมิ ทำให้สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมภายใน ให้มีความเหมาะสมต่อสภาพการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูกแล้ว รวมทั้งสามารถเลือกกำหนดช่วงระยะการปลูกหรือเก็บเกี่ยวได้อย่างเหมาะสม จำนวนของผลผลิตจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาและทันกับความต้องการ
ประวัติความเป็นมา
โรงเรือนกระจกถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อประมาณคริสต์ศักราชที่ 30 ในสมัยจักรพรรดิทิแบริอุสแห่งจักรวรรดิโรมัน ทรงโปรดให้สร้างเรือนต้นไม้ที่คลุมด้วยแผ่นไมก้า (Mica) เพื่อปลูกแตงกวานอกฤดู ต่อมาแนวความคิดนี้ถูกรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1599 ที่ประเทศฮอลแลนด์ โดย จูลส์ ชาร์ล (Jules Charles) นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศสสร้างเรือนกระจกเพื่อปลูกพืชเมืองร้อนที่ใช้ทำยารักษาโรค เช่น ต้นมะขามที่ถูกนำมาจากประเทศอินเดีย หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการสร้างเรือนกระจกกันอย่างแพร่หลายในยุโรปและอเมริกา แต่โดยมากจะอยู่ในสังคมชั้นสูง เช่น เชื้อพระวงศ์และผู้มีฐานะ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกสร้างอย่างใหญ่โตหรูหรา เพื่ออวดฐานะและเพื่อความเพลิดเพลินใจ ในยุคนั้นเรือนกระจกมักจะใช้ปลูกผลไม้เมืองร้อน และมีชื่อเรียกตามผลไม้ที่ปลูกนั้น เช่น Orangeries คือ เรือนกระจกที่ใช้ปลูกส้ม และ Pinery คือ เรือนกระจกที่ใช้ปลูกสับปะรด เป็นต้น ยกตัวอย่างเรือนกระจกของชนชั้นสูงที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น เรือนกระจกขนาดใหญ่ที่พระราชวังแวร์ซายส์ เป็นต้น
จนกระทั่งในราวปี ค.ศ. 1825 แนวความคิดเกี่ยวกับการสร้างเรือนกระจกได้เปลี่ยนไป เริ่มมีการสร้างเรือนกระจกกันมากขึ้นในกลุ่มชนชั้นกลาง เพื่อปลูกพืชผักผลไม้ที่ใช้ในครัวเรือน และเริ่มมีการสร้างเรือนกระจกเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา และการพักผ่อนหย่อนใจของสาธารณชนอีกด้วย ในที่สุดหลังจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม แนวความคิดนี้จึงถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า เช่น ปลูกไม้ตัดดอกขาย เป็นต้น
สิ่งที่ควรคำนึงก่อนการปลูกโรงเรือนกระจก
- ทำเลที่ตั้ง ต้องสามารถรองรับปัจจัยพื้นฐานที่พืชต้องการได้ ดังนี้ น้ำ แสงแดด อากาศ ธาตุอาหาร รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาร่วม
- ลักษณะของโรงเรือนกระจก ควรสร้างให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าออกได้อย่างสะดวก ความลาดเอียงของหลังคาไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ และมีชายคายื่นออกมาเพื่อป้องกันไม่ให้ฝนสาดเข้าไปภายใน
- ปัจจัยที่ต้องการควบคุม
- แสงแดด
- ความชื้น
- อุณหภูมิ
- ฝน
- ลม
- การป้องกันแมลง
- การใช้แรงงาน มาจากการประกาศรับสมัครคนงานที่ต้องแลกกับค่าแรง หรือการติดตั้งระบบอัตโนมัติ
- เส้นทางขนส่ง ควรมีเส้นทางติดต่อส่งสินค้าที่ง่าย สะดวก และควรอยู่ใกล้ตลาดหรือแหล่งชุมชน
ประเภทของโรงเรือนกระจก
- โรงเรือนกระจก (Greenhouse) โดยทั่วไปโครงสร้างจะประกอบด้วยไม้ เหล็กกล้า และโลหะผสมอลูมิเนียม ทำเป็นกรอบกระจก และกรอบระบายอากาศ โรงเรือนประเภทนี้จะมีความคงทน อายุการใช้งานนานถึง 10 ปี แต่มีราคาสูงมาก
- โรงเรือนพลาสติก (Plastic Greenhouse) โรงเรือนประเภทนี้มีข้อดีที่สำคัญคือ ต้นทุนขั้นแรกต่ำ แต่ข้อเสียคือ มีอายุการใช้งานสั้น อันเนื่องมาจากแสงอุลตราไลโอเลตและลมที่ทำให้ฉีกขาดได้ง่าย เว้นแต่จะคอยระมัดระวังให้ดี
- โรงเรือนผ้า (Fabric Greenhouse) โรงเรือนประเภทนี้สร้างค่อนข้างง่าย ประกอบด้วยเสาไม้และเสาเหล็ก คลุมด้วยผ้าหรือพลาสติกที่แสงผ่านได้ โดยมีปัจจัยแวดล้อมสำคัญ ได้แก่ อุณหภูมิ ความเข้มแสง ความชื้นสัมพัทธ์ และความเร็วลม
- เรือนระแนง (Lath House) โรงเรือนประเภทนี้ใช้ในการปลูกพรรณไม้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง และมีแสงแดดจัด โดยเฉพาะการปลูกไม้ใบ
หลักการโรงเรือนกระจก
เหตุผลเบื้องต้นสำหรับการใช้โรงเรือนนั้น เป็นไปเพื่อควบคุมอุณหภูมิการเจริญเติบโตของพืช โดยอุณหภูมิภายในโรงเรือนจะสูงขึ้นด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
- ผลกระทบจากปฏิกิริยาเรือนกระจก (Greenhouse Effect) พลังงานแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านโรงเรือนกระจกจะถูกถ่ายทอดผ่านวัสดุคลุมหลังคา และผนังเข้ามาในรูปของรังสีที่มีคลื่นความยาวสั้นประมาณ 0.312-4.75 ไมครอน จากนั้นจะถูกสะท้อนกลับด้วยพื้นผิวของวัสดุหลายชนิดในโรงเรือน โดยบางส่วนได้สะท้อนกลับสู่ภายนอกดังเดิม ในขณะที่ส่วนที่เหลือถูกดูดซับไว้ด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ภายในโรงเรือน จากนั้นจะถูกเปลี่ยนไปเป็นพลังงานความร้อนโดยผ่านกระบวนการระเหยหรือระเหิด ซึ่งพลังงานความร้อนส่วนใหญ่เป็นรังสีที่มีความยาวคลื่น 5-40 ไมครอน จึงไม่สามารถสะท้อนทะลุผ่านวัสดุคลุมหลังคาและฝาผนังของโรงเรือนออกไปได้ และจะถูกกักเก็บไว้ภายใน ทำให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนกระจกสูงขึ้น
- โครงสร้างของโรงเรือนเป็นโรงเรือนปิด การไหลเวียนของอากาศถูกจำกัดทำให้เกิดการถ่ายเทอากาศไม่สะดวก และไม่สามารถถ่ายเทความร้อนจากภายในออกสู่ภายนอกได้ ซึ่งข้อนี้นับว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนกระจกเพิ่มขึ้นสูง
จากที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้นพบว่า สาเหตุสำคัญของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นภายในโรงเรือนกระจก คือ ข้อจำกัดในการไหลเวียนของอากาศ จึงกลายมาเป็นการพยายามค้นหาวิธีการในการช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนกระจก ดังนี้
- การถ่ายเทอากาศผ่านช่องเปิดของหลังคาและผนังด้านข้างของโรงเรือนกระจก วิธีนี้เป็นวิธีมาตรฐานในการลดอุณหภูมิภายในเรือนกระจก เป็นการถ่ายเทเอาอากาศเย็นจากภายนอกเข้ามาภายใน ซึ่งสามารถลดความร้อนภายในโรงเรือนกระจก ทำให้ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิภายใน (ที่มีค่าสูงกว่า) และภายนอกโรงเรือน (ที่มีค่าต่ำกว่า) ลดเหลือเพียง 8-14 องศาเซลเซียสเท่านั้น
- การถ่ายเทอากาศด้วยพัดลมดูดอากาศ (Exhaust Fan) การใช้พัดลมดูดอากาศสามารถลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนกระจกลงได้อีกอย่างน้อย 3-6 องศาเซลเซียส ต่ำกว่าการถ่ายเทอากาศด้วยช่องเปิดของโรงเรือนเท่านั้น อย่างไรก็ดีการถ่ายเทอากาศด้วยวิธีนี้ควรจำกัดใช้ ในกรณีที่อุณหภูมิภายนอกนั้นใกล้เคียง หรือสูงกว่าอุณหภูมิที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชเท่านั้น ในช่วงที่อากาศเย็นจัดจะไม่เหมาะสมในการใช้พัดลมดูดอากาศ
- การถ่ายเทอากาศโดยผ่านท่อระบายอากาศแบบเจาะรู (Perforated Convection Tubes) ทำได้โดยการเดินท่อขนาดใหญ่ที่เจาะรูระบายอากาศไว้โดยทั่วไป ผ่านด้านบนของโรงเรือนกระจก โดยเปิดปลายท่อที่ผนังทั้งสองด้าน เพื่อให้อากาศจากภายนอกถ่ายเทเข้ามาภายใน วิธีนี้จะช่วยให้อากาศเย็นจากภายนอกผสมผสานเข้ากับอากาศ ที่มีอุณหภูมิสูงกว่าที่อยู่ภายในโรงเรือน ก่อนที่อากาศเย็นจากภายนอกนั้นจะปะทะกับต้นไม้ทันที สามารถใช้ร่วมกับการใช้พัดลมดูดอากาศได้ อย่างไรก็ดีถ้าอุณหภูมิภายนอกสูงเกินไปวิธีนี้ก็อาจจะไม่ได้ผล
- การให้ร่มเงาแก่หลังคา (Roof Shading) อุณหภูมิภายในเรือนกระจกจะลดต่ำลงได้ ถ้าใช้วัสดุทึบแสงปิดหรือพ่นทับลงบนกระจก หรือการใช้กระจกกรองแสง วัสดุกรองแสงอาจเป็นสีพ่นกระจกโดยเฉพาะ ซึ่งนิยมใช้สีขาว เนื่องจากสามารถสะท้อนรังสีจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ถึง 83 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สีเขียวสะท้อนได้ 43 เปอร์เซ็นต์ และสีน้ำเงินสะท้อนได้เพียง 25 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ดีต้องระวังว่าวิธีนี้อาจมีผลกระทบต่ออัตราการสังเคราะห์แสงของพืชได้ โดยทั่วไปแล้วการให้ร่มเงาแก่หลังคาสามารถลดอุณหภูมิภายในอาคารลงได้ 3.5 องศาเซลเซียส การให้ร่มเงาแก่หลังคาอีกวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมก็คือการติดตั้งม่านซาแรน (Saran) หรือผ้า ด้านในของผนังโรงเรือนซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามปริมาณแสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถลดอุณหภูมิลงได้ถึง 5.3 องศาเซลเซียส
- การทำให้เย็นลงโดยการระเหยของน้ำ (Evaporative Cooling) วิธีนี้อาศัยหลักการที่ว่า การระเหยของน้ำจะดูดความร้อนจากบรรยากาศโดยรอบ สามารถแบ่งออกได้เป็นสองระบบใหญ่ คือ ระบบพัดลมผ่านกระดาษซับความชื้น (Fan and Pad System) และระบบหมอกความดันสูง (High-Pressure Mist System) วิธีนี้จำเป็นต้องอาศัยพลังงานจากอุปกรณ์กลไกเข้าช่วย แต่สามารถลดอุณหภูมิลงได้ ประมาณ 3-14 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว
การควบคุมอากาศภายในโรงเรือนเขตร้อน (ประเทศไทย)
โรงเรือนกระจกทุกที่จำเป็นต้องมีระบบระบายอากาศเป็นสำคัญ หากโรงเรือนกระจกถูกปิดแน่น เมื่อแสงส่องลงมายังโรงเรือน ไม่นานอุณหภูมิก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้พืชภายในโรงเรือนได้รับความเสียหาย โดยปัญหานี้มีวิธีควบคุม 2 วิธี คือ
- การระบายอากาศตามแนวราบ วิธีนี้ช่องระบายอากาศจะถูกติดตั้งอยู่ด้านท้ายของโรงเรือน และอากาศจะถูกทำให้เคลื่อนที่ผ่านโรงเรือนตามแนวราบด้วยการใช้พัดลม
- การระบายอากาศตามแนวดิ่ง เป็นวิธีที่ใช้อยู่ทั่วไปและผ่านการทดลองมาเป็นเวลาหลายปี วิธีนี้ใช้ประโยชน์โดยการติดต่อช่องระบายอากาศที่กำแพงข้าง อากาศจะหมุนเวียนผ่านเข้ามาภายในโดยช่องอากาศที่กำแพงข้าง และผ่านออกไปทางช่องอากาศที่หลังคา ด้วยการใช้หลักการที่ว่า อากาศร้อนจะเคลื่อนที่ผ่านจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดและลอยสูงขึ้น นับว่าเป็นระบบที่มีวิธีการไม่ยุ่งยาก ทำให้ประหยัดและมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ การออกแบบและการพัฒนาเรือนเพาะชำพลาสติก โดย พูลศักดิ์ ทองดอนเถิ่ง และ ช้องนาง ยอดสง่า
รวบรวมโดย ฮอกวอตส์ไทย (http://hogwartsthai.com) หากนำข้อมูลนี้หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อมูลนี้ไปเผยแพร่ กรุณาให้เครดิตฮอกวอตส์ไทยด้วย
|